นำข้อมูลนี้มาจากhttp://www.watchoengthar.com
พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
|
สมเด็จ พระเจ้าตากสินมหาราช
พระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 5
ขึ้น 15 ค่ำ ปีขาล ฉศก จุลศักราช 1096
ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277
ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
มีพระนามเดิมว่า สิน พระราชบิดาเป็นชาวจีนชื่อนายไหฮอง หรือ หยง แซ่แต้ เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย
มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์ พระราชชนนีชื่อนางนกเอี้ยง (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระเทพามาตย์) ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับจวนเจ้าพระยาจักรีที่สมุหนายก
เมื่อยังทรงพระเยาว์เจ้าพระยาจักรีได้ขอสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปเลี้ยง
เป็น บุตรบุญธรรม และได้ตั้งชื่อพระองค์ท่านว่า สิน พอนายสินอายุได้ 9
ขวบ เจ้าพระยาจักรีก็นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของพระอาจารย์ทองดี
วัดโกษาวาส ครั้นอายุได้ 13 ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำนายสินเข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้า
อยู่หัวบรมโกศ ตามประเพณีของการรับราชการในสมัยนั้น
ในระหว่างรับราชการเป็นมหาดเล็กนายสินได้พยายามศึกษาหาความรู้ทางด้านภาษา
ต่าง ประเทศหลายภาษา มีภาษาจีน ภาษาญวน และภาษาแขก จนสามารถพูดได้สามภาษาอย่างชำนิชำนาญ
ครั้นนายสินอายุได้ 21 ปี
เจ้าพระยาจักรีได้ประกอบการอุปสมบทนายสินเป็นพระภิกษุสงฆ์อยู่ในสำนัก
อาจารย์ทองดี ณ วัดโกษาวาส (
ปัจจุบันคือวัดเชิงท่า )
|
นายสินอุปสมบทอยู่ 3 พรรษา
แล้วก็ลาสิกขาบทกลับมาเข้ารับราชการตามเดิม เนื่องจากนายสินเป็นผู้ฉลาดรอบรู้ขนบธรรมเนียมราชกิจต่าง
ๆ โดยมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายสินเป็นมหาดเล็กรายงาน ด้วยราชการทั้งหลายในกรมมหาดไทย
และกรมวังศาลหลวง
พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรเสด็จเสวยราชสมบัติได้ 3 เดือนเศษ
ก็ถวายสิริราชสมบัติแก่สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
ฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงานเป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปชำระความหัว เมืองฝ่ายเหนือ
ซึ่งนายสินได้ปฏิบัติราชการด้วยความวิริยะอุตสาหะและมีความดีความชอบมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ช่วยราชการอยู่กับพระยาตาก
ครั้นเมื่อพระยาตากถึงแก่กรรมลงก็ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนหลวงยกกระบัตร (สิน)
เป็นพระยาตาก ปกครองเมืองตากแทน
พ.ศ. 2308 พระยาตาก (สิน) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า
ฯ ให้เข้ามาช่วยราชการสงครามเพื่อป้องกันพม่าในกรุงศรีอยุธยา พระยาตาก (สิน) มีฝีมือการรบป้องกันพระนครอย่างเข้มแข็งมีความดีความชอบมาก
จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น พระยาวชิรปราการ
(สิน) สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองเดิมที่ถึงแก่กรรม
พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในเดือนเมษายน
พระยาตากก็สามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนได้ แล้วก็คิดจะปฏิสังขรณ์กรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีใหม่
แต่เมื่อได้ตรวจความเสียหายแล้วเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาได้รับความเสียหายเป็น อันมากยากที่จะบูรณะให้เหมือนดังเดิมได้
และประกอบกับรี้พลของเจ้าตากมีไม่พอที่จะรักษากรุงศรีอยุธยาที่เป็นเมือง ใหญ่ได้
จึงเลือกเมืองธนบุรีเป็นราชธานี และได้อพยพผู้คนลงมาตั้งมั่นที่เมืองธนบุรี
เจ้า ตากทรงทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองกรุงธนบุรี
เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม 4
ค่ำ จุลศักราช 1130 ปีชวด สัมฤทธิศก
ตรงกับวันที่ 28 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2311 ขณะมีพระชนมายุได้ 34 พรรษา ทรงนามว่า
สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่ประชาชนทั่วไปยังนิยมขนานพระนามพระองค์ว่า
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
|
|
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดากับสมเด็จพระอัครมเหษี
กรมหลวงบาทบริจา และกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ รวมทั้งพระสนมต่าง ๆ รวมทั้งสิน
29 พระองค์
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จสวรรคต เมื่อวันเสาร์ เดือน 5
แรม 9 ค่ำ จ.ศ. 1144 ปีขาล ตรงกับวันที่ 6 เมษายน 2325 พระชนมายุ 48 พรรษา รวมสิริราชสมบัติ 15 ปี
พระราชกรณียกิจ
ด้านการปกครอง ยังคงใช้ระบบการปกครองแบบกรุงศรีอยุธยา
ส่วนด้านกฎหมาย เมื่อครั้งกรุงแตก กฎหมายบ้านเมืองกระจัดกระจายหายสูญไปมาก จึงโปรดให้ทำการสืบเสาะค้นหามารวบรวมไว้ได้ประมาณ
1 ใน 10 และโปรดให้ชำระกฎหมายเหล่านั้น
ฉบับใดยังเหมาะแก่กาลสมัยก็โปรดให้คงไว้ และเป็นการแก้ไขเพื่อให้ราษฎรได้รับผลประโยชน์มากขึ้น
เช่น โปรดให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการพนัน ให้อำนาจการตัดสินลงโทษขึ้นแก่ศาลแทนนายตราสิทธิขาด
และยังห้ามนายตรา นายบ่อนออกเงินทดรองให้ผู้เล่น เกาะกุม ผูกมัด จำจอง
เร่งรัดผู้เล่น กฎหมายพิกัดภาษีอากรเกือบไม่มี เพราะผลประโยชน์แผ่นดินได้จากการค้าสำเภามากพอแล้ว
กฎหมายว่าด้วยการจุกช่องล้อมวง ก็ยังไม่ตราขึ้น เปิดโอกาสให้ราษฎรได้เฝ้าตามรายทาง
โดยไม่ต้องมีพนักงานตำรวจแม่นปืนคอยยิงราษฎร ซึ่งแม้แต่ชาวต่างประเทศก็ยังชื่นชมในพระราชอัธยาศัยนี้
ใน ชั้นศาล ก็ไม่โปรดให้อรรถคดีคั่งค้าง แม้ยามศึก หากคู่ความไม่ได้เข้ากองทัพหรือประจำราชการต่างเมือง
ก็โปรดให้ดำเนินการพิจารณาคดีไปตามปกติ ทั้งในการฟ้องร้อง ยังโปรดให้โจทย์หาหมอความแต่งฟ้องได้เช่นเดียวกับปัจจุบันอีกด้วย
วิธีพิจารณาคดีในสมัยนั้นสะท้อนให้เห็นได้แจ่มชัด ในบทละครรามเกียรติ์ตอนท้าวมาลีวราชพิพากษาความ
พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี
ด้านการทหาร ทรงรวบรวมคนไทยที่แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า 5 ก๊ก และปราบปรามก๊กต่าง ๆ ทำสงครามกับพม่า
ขยายพระราชอาณาเขตไปยังหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และกัมพูชา
ด้านเศรษฐกิจ เนื่องในสมัยกรุงธนบุรี
เป็นระยะเวลาที่สร้างบ้านเมืองกันใหม่ การค้าเจริญรุ่งเรืองทั้งของหลวงและของราษฎร
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทำนุบำรุงการค้าขายทางเรืออย่างเต็มที่ ทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปค้าขายทางด้านตะวันออกไปถึงเมืองจีน
ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือถึงอินเดียตอนใต้ ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการค้าของหลวงช่วยบรรเทาภาระภาษีของราษฎรไปได้มาก
สมเด็จ พระเจ้าตากสิน ฯ ทรงส่งเสริมการนำสินค้าพื้นเมืองไปขายทางเรือ
ซึ่งอำนวยผลประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่องานสร้างชาติ ทำให้ราษฎรมีงานทำ มีรายได้
ทั้งยังฝึกให้คนไทยเชี่ยวชาญการค้าขาย ป้องกันมิให้การค้าตกไปอยู่ในมือต่างชาติ
ด้านการคมนาคม ใน
ยามว่างจากศึกสงคราม จะโปรดให้ตัดถนนและขุดคลองมากขึ้น
เพื่อประโยชน์ในทางค้าขาย ทรงยกเลิกความคิดแนวเก่าที่ว่าหากถนนหนทาง การคมนาคมมีมากแล้ว
จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ข้าศึกศัตรู และพวกก่อการจลาจล แต่กลับทรงเห็นประโยชน์ในทางค้าขายมากกว่า
ดังนั้นในฤดูหนาวหากว่างจากศึกสงคราม ก็จะโปรดให้ตัดถนน และขุดคลอง จะเห็นได้จากแนวถนนเก่า
ๆ ในเขตธนบุรี ซึ่งมีอยู่มากสาย ส่วนการขุดชำระคลองมักมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์
เช่น คลองท่าขามจากนครศรีธรรมราชไปออกทะเล เป็นต้น
ด้านศิลปกรรม ใน สมัยนี้ แม้สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีจะมีการงานศึกสงครามแทบจะมิได้ว่างเว้นก็
ตาม แต่ก็ทรงหาโอกาสฟื้นฟู และบำรุงศิลปกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านนาฏดุริยางค์
และวรรณกรรม ด้านนาฏดุริยางค์โปรดให้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างบรรยากาศที่รื่นเริงครึกครื้นเหมือนครั้งกรุงเก่านับเป็นวิธี
บำรุงขวัญที่ใกล้ตัวราษฎรที่สุด พระราชทานโอกาสให้ประชาชนทั่วไป เปิดการสอนและออกโรงเล่นได้โดยอิสระ
เครื่องแต่งกายไม่ว่าจะเป็นเครื่องต้นเครื่องทรงก็แต่งกันได้ตามลักษณะ เรื่อง แม้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเองก็คงจะทรงสนพระทัยในกิจการด้านนี้มิใช่น้อย
ด้วยมักจะโปรดให้มีละครและการละเล่นอย่างมโหฬารในงานสมโภชอยู่เนือง ๆ
สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี
ทรงพระราชนิพนธ์บทละครรามเกียรติ์ไว้ 4 เล่ม
สมุดไทยแบ่งเป็นตอนไว้ 4 ตอน คือ
- เล่ม 1 ตอนพระมงกุฎ
- เล่ม 2 ตอนหนุมานเกี้ยววานรินจนท้าวมาลีวราชมา
- เล่ม 3 ตอนท้าวมาลีวราชพิพากษา จนทศกรรฐ์เข้าเมือง
- เล่ม 4 ตอนทศกรรฐ์ตั้งพิธีทรายกรด, พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัสตร์
จนผูกผมทศกรรฐ์กับนางมณโฑ
การที่พระมหากษัตริย์ทรงใฝ่พระทัยในกวีนิพนธ์ถึงกับพระราชนิพนธ์ทั้ง
ๆ ที่แทบจะมิได้ว่างเว้นจากราชการทัพเช่นนี้ เท่ากับเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่มีความสามารถทางกวีนิพนธ์ในยุคนั้นสร้าง
สรรค์งานขึ้นมาได้บ้าง แม้เหตุการณ์ของบ้านเมืองจะยังมิได้คืนสู่สภาพปกติสุขดีนัก
และสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ก็ทรงให้ความอุปถัมภ์กวีในราชสำนักเป็นอย่างดี
ด้านการช่าง โปรดให้รวบรวมช่างฝีมือ และให้ฝึกงานช่างทุกแผนกเท่าที่มีครูสอน
เช่น ช่างต่อเรือ ช่างก่อสร้าง ช่างรัก ช่างประดับ ช่างเขียน เป็นต้น สำหรับงานช่างต่อเรือได้รับความนิยมมากที่สุด
เพราะเป็นยุคที่มีการต่อเรือรบ และเรือสำเภาค้าขายเป็นจำนวนมากมาย ช่างสมัยกรุงธนบุรีนี้อาจจะไม่มีเวลาทันสร้างผลงานดีเด่นเฉพาะสมัย
แต่ก็ได้เป็นผู้สืบทอดศิลปกรรมแบบอยุธยาไปสู่แบบรัตนโกสินทร์
ด้านการศึกษา ในสมัยนั้นวัดเป็นแหล่งที่ให้การศึกษา จึงโปรดให้บำรุงการศึกษาตามวัดต่างๆ
และโปรดให้ตั้งหอหนังสือหลวงขึ้นเช่นเดียวกันกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งคงจะเทียบได้กับหอพระสมุดในระยะหลัง
ส่วนตำรับตำราที่กระจัดกระจายไปเมื่อคราวกรุงแตก ก็โปรดให้สืบเสาะหามาจำลองไว้เป็นแบบฉบับ
สำหรับผู้สนใจอาศัยคัดลอกกันต่อ ๆ ไป และที่แต่งใหม่ก็มี
ด้านการศาสนา โปรด ให้ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง
ๆ ที่รกร้างปรักหักพังตั้งแต่ครั้งพม่าเข้าเผาผลาญทำลายและกวาดต้อนทรัพย์สิน ไปพม่า
แล้วโปรดให้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์เข้าจำวัดต่าง ๆ ส่วนพระไตรปิฎกยังเหลือตกค้างอยู่ที่ใด
ก็โปรดให้คัดลอกสร้างเป็นฉบับหลวง แล้วส่งคืนกลับไปที่เดิม
เรื่องสังฆมณฑล
โปรดให้ดำเนินตามธรรมเนียมการปกครองคณะสงฆ์ที่มีมาแต่ก่อน
โดยแยกเป็นฝ่ายคันถธุระและฝ่ายวิปัสสนาธุระ
ฝ่ายคันถธุระดำเนินการศึกษาพระปริยัติธรรมให้เจริญ
ส่งเสริมการสอนภาษาบาลี เพื่อช่วยการอ่านพระไตรปิฎก
ฝ่ายวิปัสนาธุระ โปรดให้กวดขันการปฏิบัติพระธรรมวินัยเป็นขั้น ๆ
ไปตามภูมิปฏิบัติ
ส่วน ลัทธิอื่น ๆ ในชั้นต้นสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี พระราชทานเสรีภาพในการนับถือศาสนา
แต่ต่อมาข้าหลวงที่เข้ารีต ได้พยายามห้ามปรามชาวไทยปฏิบัติพิธีการทางศาสนา
เช่น พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ความขัดแย้งมีมากขึ้นเรื่อย ถึงกับจับพวกบาทหลวงกุมขังก็มี
ในที่สุดพระองค์จำต้องขอให้บาทหลวงไปจากพระราชอาณาเขต แล้วห้ามชาวไทยนับถือศาสนาคริสต์
ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2322
ด้านการศึกสงคราม ขณะ ที่พระยาตากได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า
ฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นพระยาวชิรปราการ (สิน) สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองเดิมที่ถึงแก่กรรม
แต่ก็ยังมิได้ไปครองเมืองกำแพงเพชร เพราะต้องต่อสู้กับข้าศึกในการป้องกันพระนคร
เมื่อพระยาวชิรปราการ (สิน) เล็งเห็นว่าถึงแม้จะอยู่ช่วยรักษาพระนครต่อไป
ก็คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด พม่าก็ตั้งล้อมพระนครกระชั้นเข้ามาทุกขณะจนถึงคูพระนครแล้ว
กรุงศรีอยุธยาคงไม่พ้นเงื้อมมือพม่าเป็นแน่แท้ ไพร่ฟ้าข้าทหารในพระนครก็อิดโรยลงมาก
เนื่องจากขัดสนเสบียงอาหาร ทหารไม่มีกำลังใจจะสู้รบ ดังนั้นพระยาวชิรปราการ
(สิน) จึงตัดสินใจร่วมกับพระยาพิชัยอาสา พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา
หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี และพรรคพวก รวม 500 คน
ยกกำลังออกจากค่ายวัดพิชัย ตีฝ่าพม่าไปทางทิศตะวันออก เวลาค่ำในวันเสาร์
เดือนยี่ ขึ้น 4 ค่ำ ปีจอ พ.ศ. 2309 ตรงกับวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2309
ทัพ พม่าได้ส่งทหารไล่ติดตามพระยาวชิรปราการ (สิน) และพรรคพวกมาทันกันในวันรุ่งขึ้นที่
บ้านโพธิ์สังหาร พระยาวชิรปราการ (สิน) ได้นำพลทหารไทยจีนเข้ารบกับทหารพม่าเป็นสามารถจนทหารพม่าแตกพ่ายไป
และยังได้ยึดเครื่องศาสตราวุธอีกเป็นจำนวนมาก แล้วออกเดินทางไปตั้งพักที่บ้านพรานนก
เพื่อหาเสบียงอาหาร ระหว่างที่ทหารพระยาวชิรปราการ (สิน)
หาเสบียงอาหารอยู่นั้น ได้พบทัพพม่าจำนวนพลขี่ม้าประมาณ 30 ม้า พลเดินเท้าประมาณ 2,000 คน ยกทัพมาจากบางคาง
แขวงเมืองปราจีนบุรี เพื่อเข้ารวมพลเข้าตีกรุงศรีอยุธยาในโอกาสต่อไป
ทหารพระยาวชิรปราการ (สิน) จึงหนีกลับมาที่บ้านพรานนก โดยมีทหารพม่าไล่ติดตามมาอย่างกระชั้นชิดและชะล่าใจ
พระยาวชิรปราการ (สิน) จึงให้ทหารซึ่งเป็นพลเดินเท้าแยกออกเป็นปีกกาเข้าตีโอบพวกพม่าทั้งสองข้าง
ส่วนพระยาวชิรปราการ (สิน) กับทหารอีก 4 คน ก็ขี่ม้าตรงเข้าไล่ฟันทหารม้าพม่าซึ่งนำทัพมาอย่างไม่ทันรู้ตัวก็แตกร่นไป
ถึงพลเดินเท้า พวกทหารพระยาวชิรปราการได้ทีเข้ารุกไล่ฆ่าฟันทหารพม่าจนแตกพ่ายไป
การชนะในครั้งนี้ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ทหารพระยาวชิรปราการ (สิน) เป็นอย่างมากในโอกาสสู้รบกับพม่าในโอกาสต่อไป
พวกราษฏรที่หลบซ่อนเร้นพม่าอยู่ได้ทราบกิตติศัพท์การรบชนะของพระยาวชิร
ปราการ (สิน) ต่อทหารพม่าต่างก็มาขอเข้าเป็นพวก และได้เป็นกำลังสำคัญในการเกลี้ยกล่อมผู้ที่ตั้งตัวเป็นหัวหน้า
นายซ่องต่าง ๆ มาอ่อนน้อมขุนชำนาญไพรสนฑ์ และนายกองช้างเมืองนครนายก มีจิตสวามิภักดิ์ได้นำเสบียงอาหารและช้างม้ามาให้เป็นกำลังเพิ่มขึ้น
ส่วนนายซ่องใหญ่ซึ่งมีค่ายคูยังทะนงตนไม่ยอมอ่อนน้อม พระยาวชิรปราการ (สิน) ก็คุมทหารไปปราบจนได้ชัยชนะแล้วจึงยกทัพผ่านเมืองนครนายกข้ามลำน้ำเมือง
ปราจีนบุรีไปตั้งพักที่ชายดงศรีมหาโพธิ์ข้างฟากตะวันตก
ทหารพม่าเมื่อแตกพ่ายไปจากบ้านพรานนกแล้วก็กลับไปรายงานนายทัพที่ตั้งค่าย
ณ ปากน้ำเจ้าโล้ เมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งกองทัพพม่ากองสุดท้ายที่รวบรวมกำลังกันทั้งทัพบกทัพเรือไปรอดัก
พระยาวชิรปราการ (สิน) อยู่ ณ ที่นั้น และตามทัพพระยาวชิรปราการ (สิน) ทันกันที่ชายทุ่ง
พระยาวชิรปราการ (สิน) เห็นว่าจะต่อสู้กับข้าศึก ซึ่ง ๆ หน้าไม่ได้
อีกทั้งมีกำลังน้อยกว่ายากที่จะเอาชัยชนะแก่พม่าได้ จึงเลือกเอาชัยภูมิพงแขมเป็นกำบังแทนแนวค่าย
และแอบตั้งปืนใหญ่น้อยรายไว้หมายเฉพาะทางที่จะล่อพม่าเดินเข้ามา แล้วพระยาวชิรปราการ
(สิน) ก็นำทหารประมาณ 100 คนเศษ คอยรบพม่าที่ท้องทุ่ง ครั้นเมื่อรบกันสักพักหนึ่งก็แกล้งทำเป็นถอยหนีไปทางช่องพงแขมที่ตั้งปืน
ใหญ่เตรียมไว้ ทหารพม่าหลงกลอุบายรุกไล่ตามเข้าไปก็ถูกทหารไทยระดมยิงและตีกระหนาบเข้ามา
ทางด้านหน้า ขวา และซ้าย จนทหารพม่าไม่มีทางจะต่อสู้ได้ต่อไปทำให้ทหารพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก
ที่รอดตายต่างถอยหนีอย่างไม่เป็นกระบวนก็ถูกพระยาวชิรปราการ (สิน) นำทหารไล่ติดตามฆ่าฟันล้มตายอีก
นับตั้งแต่นั้นมาทหารพม่าก็ไม่กล้าจะติดตามพระยาวชิรปราการ (สิน) อีกต่อไป
เมื่อพระยาวชิรปราการ (สิน) ได้ชัยชนะพม่าแล้วได้ยกทัพผ่านบ้านทองหลาง
พานทอง บางปลาสร้อย บ้านนาเกลือ เขตเมืองชลบุรี
ต่างก็มีผู้คนเข้าร่วมสมทบมากขึ้นจนมีรี้พลเป็นกองทัพ จากนั้นพระยาวชิรปราการ
(สิน) ก็เดินทางไปเมืองระยอง โดยหมายจะเอาเมืองระยองเป็นที่ตั้งมั่นต่อไป
ครั้นถึงเมืองระยอง พระยาระยองชื่อบุญ เห็นกำลังพลของพระยาวชิรปราการมีจำนวนมากมายที่จะต้านทานได้จึงพากันออกมา
ต้อนรับ พระยาวชิรปราการ (สิน) จึงตั้งค่ายที่ชานเมืองระยอง ขณะนั้นมีพวกกรมการเมืองระยองหลายคนแข็งข้อคิดจะสู้รบ
จึงได้ยกกำลังเข้าปล้นค่ายในคืนวันที่สองที่หยุดพัก แต่พระยาวชิรปราการ
(สิน) รู้ตัวก่อน จึงได้ดับไฟในค่ายเสียและมิให้โห่ร้องหรือยิงปืนตอบ
รอจนพวกกรมการเมืองเข้ามาได้ระยะทางปืน พระยาวชิรปราการ (สิน) ก็สั่งยิงปืนไปยังพวกที่จะแหกค่ายด้านวัดเนิน
พวกที่ตามหลังมาต่างก็ตกใจและถอยหนี พระยาวชิรปราการ (สิน) คุมทหารติดตามไปเผาค่ายและยึดเมืองระยองได้ในคืนนั้น
การที่พระยาวชิรปราการ (สิน) เข้าตีเมืองระยองได้และกรุงศรีอยุธยายังมิได้เสียทีแก่พม่าแต่ประการใด
จึงถือเสมือนเป็นผู้ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ดังนั้น พระยาวชิรปราการ (สิน) ก็ระวังตนมิได้คิดตั้งตัวเป็นกบฏ
และให้เรียกคำสั่งว่า พระประศาสน์อย่างเจ้าเมืองเอก พวกบริวารจึงเรียกว่า
เจ้าตาก ตั้งแต่นั้นมา
เมื่อเจ้าตากตั้งตัวเป็นอิสระที่เมืองระยอง ส่วนเมืองอื่น ๆ ทางหัวเมืองชายทะเลตะวันออกนับตั้งแต่เมืองบางละมุง
เมืองชลบุรี เมืองจันทบุรี เมืองตราด ต่างก็ยังเป็นอิสระ เจ้าตากจึงมีความคิดที่จะรวบรวมเมืองต่าง
ๆ เหล่านี้ไว้เป็นพวกเดียวกันเพื่อช่วยกันปราบปรามพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยา และเล็งเห็นว่าเมืองจันทบุรีเป็นเมืองใหญ่กว่าหัวเมืองอื่น
มีเจ้าปกครองอยู่เป็นปกติมีกำลังคนและอาหารบริบูรณ์ ชัยภูมิก็เหมาะที่จะใช้เป็นที่ตั้งมั่นยิ่งกว่าหัวเมืองใกล้เคียงทั้งหลาย
จึงแต่งทูตให้ถือศุภอักษรไปชักชวนพระยาจันทบุรีช่วยกันปราบปรามข้าศึก ในครั้งแรกได้ตอบรับทูตโดยดีและรับว่าจะมาปรึกษาหารือกับเจ้าตากเกรงจะถูก
ชิงเมืองจึงไม่ยอมไปพบ
ครั้นถึงเดือน 5 ปีกุน พ.ศ. 2310 ข่าวกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อวันที่ 7 เมษายน
พ.ศ. 2310 แล้ว ก็มีคนไทยที่มีสมัครพรรคพวกมากต่างก็ตั้งตัวเป็นใหญ่พระยาจันทบุรียังไม่ยอม
เป็นไมตรีกับเจ้าตาก ส่วนขุนรามหมื่นซ่อง กรมการเมืองระยองผู้หนึ่งที่เคยปล้นค่ายเจ้าตากก็ไปซ่องสุมผู้คนอยู่ที่
เมืองแกลง ซึ่งขณะนั้นขึ้นกับเมืองจันทบุรีและคอยปล้นชิงช้างม้าพาหนะของเจ้าตาก
เจ้าตากจึงยกกำลังไปปราบ ขุนรามหมื่นซ่องสู้ไม่ได้หนีไปอยู่กับพระยาจันทบุรี ครั้นเจ้าตากจะยกพลติดตามไปก็พอดีได้ข่าวว่าทางเมืองชลบุรี
นายทองอยู่นกเล็กตั้งตัวเป็นใหญ่ ผู้ใดจะเข้ากับเจ้าตาก นายทองอยู่นกเล็กก็จะยึดเอาไว้เสีย
เจ้าตากจึงรีบยกทัพไปเมืองชลบุรีแล้วส่งเพื่อนฝูงของนายทองอยู่นกเล็กเกลี้ย กล่อม
นายทองอยู่นกเล็กเห็นจะสู้รบไม่ไหวจึงยอมอ่อนน้อม เจ้าตากจึงตั้งนายทองอยู่นกเล็กเป็นพระยาอนุราฐบุรี
ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี แล้วก็เลิกทัพกลับ
ฝ่ายพระยาจันทบุรีได้ปรึกษากับขุนรามหมื่นซ่องเห็นว่าจะรบพุ่งเอาชนะเจ้าตาก
ซึ่ง หน้าคงจะชนะยาก ด้วยเจ้าตากมีฝีมือเข้มแข็งทั้งรี้พลก็ชำนาญศึก จึงคิดกลอุบายจะโจมตีกองทัพเจ้าตากขณะกำลังข้ามน้ำเข้าเมืองจันทบุรี
โดยนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป
เป็นทูตมาเชิญเจ้าตากไปตั้งที่เมืองจันทบุรี แต่ในระหว่างเจ้าตากเดินทางจะข้ามน้ำเข้าเมืองจันทบุรีอยู่นั้นได้มีผู้
มาบอกให้เจ้าตากทราบกลอุบายนี้เสียก่อน เจ้าตากจึงให้เลี้ยวกระบวนทัพไปตั้งที่ชายเมืองด้านเหนือบริเวณวัดแก้ว
ห่างประตูท่าช้างเมืองจันทบุรีประมาณ 5 เส้น แล้วเชิญพระยาจันทบุรีออกมาหาเจ้าตากก่อนที่จะเข้าเมือง
แต่พระยาจันทบุรีไม่ยอมออกมาต้อนรับพร้อมกับระดมคนประจำรักษาหน้าที่ เชิงเทิน
เจ้า ตากได้ทบทวนถึงสถานการณ์ต่าง ๆ แล้ว เห็นว่าแม้ข้าศึกจะครั่นคร้ามฝีมือไม่กล้าโจมตีซึ่งหน้าก็ตาม
แต่ฝ่ายพระยาจันทบุรีมีจำนวนมากกว่า ถ้าเจ้าตากล่าถอยไปเมื่อใด ทัพจันทบุรีก็จะล้อมไล่ตีได้หลายทาง
เพราะไม่มีเสบียงอาหาร เจ้าตากจึงตัดสินใจจะต้องเข้าตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ให้ได้
และแสดงออกถึงน้ำใจอันเด็ดเดี่ยวโดยสั่งนายทัพนายกองว่า
|
“เรา
จะตีเมืองจันทบุรีในค่ำ วันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเย็นกินเสร็จแล้วทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือและ
ต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ก็จะได้ตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว”
|
ครั้นได้ฤกษ์เวลา 3 นาฬิกา เจ้าตากพร้อมด้วยทหารไทยจีนเข้าโจมตีเมืองจันทบุรีอย่างเข้มแข็งและเด็ด
เดี่ยวโดยเจ้าตากขี่ช้างพังคีรีบัญชรเข้าพังประตูเมืองได้สำเร็จ พวกทหารก็กรูกันเข้าเมืองได้
ชาวเมืองต่างก็เสียขวัญละทิ้งหน้าที่แตกหนีไป ส่วนพระยาจันทบุรีพาครอบครัวลงเรือหนีไปเมืองบันทายมาศ
เมื่อเจ้าตากจัดเมืองจันทบุรีเรียบร้อยแล้ว ก็ยกทัพบกทัพเรือลงไปเมืองตราด
พวกกรมการเมืองและราษฎรต่างยอมอ่อนน้อมโดยดี แต่ยังมีพ่อค้าในสำเภาที่จอดอยู่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำไม่ยอมอ่อนน้อม
เจ้าตากได้ยกทัพเรือโจมตีสำเภาจีนได้ทั้งหมดในครึ่งวัน และสามารถยึดทรัพย์สิ่งของได้เป็นจำนวนมาก
ซึ่งสามารถนำมาจัดเตรียมกองทัพเข้ากู้เอกราช
เจ้าตากได้จัดการเมืองตราดเรียบร้อยก็ย่างเข้าสู่ฤดูฝนพอดี จึงยกกองทัพกลับเมืองจันทบุรี
เพื่อตระเตรียมกำลังคน สะสมเสบียงอาหาร อาวุธยุทธภัณฑ์ และต่อเรือรบได้ถึง 100
ลำ รวบรวมกำลังคนเพิ่มได้อีกเป็นคนไทยจีน ประมาณ 5,000 คนเศษ กับมีข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาได้หลบหนีพม่ามาร่วมด้วยอีกหลายคน
และที่สำคัญก็คือ หลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก นายสุดจินดาหุ้มแพรมหาดเล็ก
พอถึงเดือน 11 พ.ศ.2310 หลังสิ้นฤดูมรสุมแล้ว เจ้าตากก็ยกกองทัพเรือจากเมืองจันทบุรีเพื่อมากอบกู้เอกราช
ระหว่างทางได้หยุดชำระความพระยาอนุราฐบุรีที่เมืองชลบุรี ซึ่งประพฤติตัวเยี่ยงโจรเข้าตีปล้นเรือลูกค้า
ชำระได้ความเป็นสัตย์จริง จึงให้ประหารชีวิตพระยาอนุราฐบุรีเสีย แล้วยกทัพเรือเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาในเดือน
12
กองทัพเรือภายใต้การบังคับบัญชาของเจ้าตากได้เข้าโจมตีเมืองธนบุรีเป็นครั้ง
แรก มีนายทองอินคนไทยที่พม่าให้รักษาเมืองอยู่ พอนายทองอินทราบข่าวว่าเจ้าตากยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา
ก็ให้คนรีบขึ้นไปบอกข่าวแก่สุกี้พระนายกองแม่ทัพพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น แล้วเรียกระดมพลขึ้นรักษาป้อมวิชเยนทร์
และหน้าแท่นเชิงเทิน
ครั้นกองทัพเรือเจ้าตากเดินทางมาถึง รี้พลที่รักษาเมืองธนบุรี กลับไม่มีใจสู้รบเพราะเห็นเป็นคนไทยด้วยกันเอง
ดังนั้นกองทัพเรือของเจ้าตากเข้ารบพุ่งเพียงเล็กน้อยก็สามารถตีเมืองธนบุรี ได้
เจ้าตากให้ประหารชีวิตนายทองอินเสียแล้วเร่งยกกองทัพเรือไปตีกรุงศรีอยุธยา
สุกี้แม่ทัพพม่าได้ข่าวเจ้าตากตีเมืองธนบุรีได้แล้ว ก็ส่งมองญ่านายทัพรองคุมพลซึ่งเป็นมอญและไทยยกกองทัพเรือไปสกัดกองทัพเรือ
เจ้าตากอยู่ที่เพนียด เจ้าตากยกกองทัพเรือขึ้นไปถึงกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลาค่ำสืบทราบว่ามีกองทัพ
ข้าศึกยกมาตั้งรับคอยอยู่ที่เพนียดไม่ทราบว่ามีกำลังเท่าใด ฝ่ายพวกคนไทยที่ถูกเกณฑ์มาในกองทัพมองญ่ารู้ว่ากองทัพเรือที่ยกมานั้นเป็นคน
ไทยด้วยกัน ก็คิดจะหลบหนีบ้าง จะหาโอกาสเข้าร่วมกับเจ้าตากบ้างมองญ่าเห็นพวกคนไทยไม่เป็นอันจะต่อสู้เกรง
ว่าจะพากันกบฏขึ้น จึงรีบหนีกลับไปค่ายโพธิ์สามต้นในคืนนั้น
เจ้าตากทราบจากพวกคนไทยที่หนีพม่ามาเข้าด้วยว่า พม่าถอยหนีจากเพนียดหมดแล้ว
ก็รีบยกกองทัพขึ้นไป ตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น 2 ค่าย
พร้อมกันในตอนเช้า สู้รบกันจนเที่ยง เจ้าตากก็เข้าค่ายพม่าได้ สุกี้ตายในที่รบ
จึงถือว่า เจ้าตากได้กอบกู้เอกราชชาติไทยกลับคืนมาได้แล้ว หลังจากที่ไทยต้องสูญเสียเอกราชในครั้งนี้เพียง
7 เดือน
ภายหลังที่พระเจ้าตากมีชัยชนะกับพม่าแล้ว ทรงทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองกรุงธนบุรี
ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ชาติบ้านเมืองเพิ่งเป็นอิสระจากพม่า จิตใจของประชาราษฎรยังระส่ำระสาย
ประกอบกับสภาพบ้านเมืองที่ถูกข้าศึกเผาผลาญทำลายปรากฎให้เห็นอยู่ทั่วไป ก็ยิ่งก่อให้เกิดความเศร้าโศกสะเทือนใจจนยากที่จะหาสิ่งใดมาลบล้างความ
รู้สึกสลดหดหู่นั้นได้ บ้านเมืองยังต้องการความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติจะต้องเรียกขวัญและ
กำลังใจของประชาชนให้กลับคืน อยู่ในสภาพปกติโดยเร็วที่สุด ไหนจะต้องป้องกันศัตรูจากภายนอกประเทศที่คอยหาโอกาสจะเข้ารุกราน
จึงต้องรวบรวมคนไทยที่แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่าถึง 5 ก๊ก คือ
- ก๊กที่ 1 เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)
ตั้งตัวเป็นเจ้าที่เมืองพิษณุโลก
- ก๊กที่ 2 เจ้าพระฝาง (เรือน)
อยู่ที่วัดพระฝาง เมืองสวางคบุรี ตั้งตัวเป็นเจ้าทั้งที่ยังเป็นพระ
- ก๊กที่ 3 เจ้านคร (หนู) เดิมเป็นปลัดผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราช
- ก๊กที่ 4 กรมหมื่นเทพพิพิธ
ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองพิมาย
- ก๊กที่ 5 คือก๊กพระยาตาก
ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองจันทบุรี
|
|
ซึ่งก๊กต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นพระราชภาระที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะต้องทรงกระทำโดย
เร็ว ดังจะได้จำแนกพระราชกรณียกิจของพระองค์ออกเป็น 2 ด้านคือ
การสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง และการฟื้นฟูบ้านเมืองทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ
การสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง
ทรงกระทำตลอดรัชกาลของพระองค์ นับตั้งแต่การปราบปรามชาวไทยที่แบ่งเป็นก๊กต่าง
ๆ การปราบปรามหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่อง ตลอดจนการทำสงครามกับพม่าทำให้พม่าลบคำดูหมิ่นไทย
เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ชาวไทยที่ยังไม่หายครั่นคร้ามพม่าได้มีกำลัง ใจดีขึ้น
ดังนี้
1. การปราบปรามก๊กต่าง ๆ
- พ.ศ.2311 ยกกองทัพไปปราบกรมหมื่นเทพพิพิธได้สำเร็จ
แล้วสำเร็จโทษกรมหมื่นเทพพิพิธด้วยท่อนจันทน์ ตามประเพณี
- พ.ศ.2312 ยกทัพบกและทัพเรือไปปราบเจ้านครศรีธรรมราชได้สำเร็จ
เมืองตานี และไทรบุรี ขอยอมเข้ารวมเป็นขัณฑสีมาด้วยกัน
- พ.ศ.2313 ยกกองทัพไปตีเมืองสวางคบุรี ขณะที่เจ้าพระฝางตีได้เมืองพิษณุโลกแล้วจึงยกกองทัพเข้าล้อมเมืองพิษณุโลก
เจ้าพระฝางฝ่าแนวล้อมหนีรอดไปได้
2. การทำสงครามกับพม่า
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทำศึกกับพม่า ถึง 9 ครั้ง แต่ละครั้งแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ทางด้านยุทธศาสตร์อย่างดี
เยี่ยม พร้อมด้วยน้ำพระทัยที่เด็ดเดี่ยวฉับไว การทำสงครามกับพม่าดังกล่าว ได้แก่
- สงครามครั้งที่ 1 รบพม่าที่บางกุ้ง พ.ศ.2310
- สงครามครั้งที่ 2 พม่าตีเมืองสวรรคโลก พ.ศ.2313
- สงครามครั้งที่ 3 ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก พ.ศ.2313
- 2314
- สงครามครั้งที่ 4 พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 1 พ.ศ.2315
- สงครามครั้งที่ 5 พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 2 พ.ศ.2316
- สงครามครั้งที่ 6 ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 2
พ.ศ.2317
- สงครามครั้งที่ 7 รบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี พ.ศ.2317
- สงครามครั้งที่ 8 อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ.2318
- สงครามครั้งที่ 9 พม่าตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2319
สำหรับสงครามรบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี
พ.ศ. 2317 เป็นสงครามที่ทำให้พม่าครั่นคร้าม
และเข็ดหลาบไม่กล้ามารุกรานไทยอีกต่อไป
3. การขยายพระราชอาณาเขตไปยังหลวงพระบางและเวียงจันทน์
พ.ศ.2321 พระเจ้านครหลวงพระบางขอสวามิภักดิ์เข้ารวมในพระราชอาณาจักร
ส่วนนครเวียงจันทน์ซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นพม่าตั้งแต่ พ.ศ.2317 ได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเดินทัพเข้ามาในพระราชอาณาเขต เพื่อกำจัดพระวอเสนาบดีเมืองเวียงจันทน์
ซึ่งได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีจึงโปรดให้กองทัพไทยยกไปตีเมืองเวียงจันทน์
ได้ เมื่อ พ.ศ.2322 โปรดให้พระยาสุโภอยู่รักษาเมือง
เมื่อเสร็จสงคราม สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร (พระแก้วมรกต)
และพระบาง จากเวียงจันทน์ มาประดิษฐาน ณ กรุงธนบุรีด้วย
4. การขยายพระราชอาณาเขตไปยังกัมพูชา
พ.ศ.2312 ทรงโปรดให้ยกกองทัพไปตีกรุงกัมพูชา
เนื่องจากเจ้าเมืองกัมพูชาไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ตามราชประเพณีที่เคยปฏิบัติมา
ทัพไทยตีได้เมืองเสียมราฐ และพระตะบอง
พ.ศ. 2314 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกกองทัพไปตีกัมพูชาได้สำเร็จ
สาเหตุจากขณะไทยทำศึกกับพม่าอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระนารายณ์ราชากษัตริย์กรุงกัมพูชาได้ถือโอกาสมาตีเมืองตราด
และเมือง จันทบุรี เมื่อตีกัมพูชาได้แล้วทรงมอบให้นักองค์นนท์ปกครองต่อไป
พ.ศ.2323 กัมพูชาเกิดจลาจลแย่งชิงราชสมบัติกันเอง
จึงเหลือนักองค์เอง ที่มีพระชนม์เพียง 4 พรรษา
ปกครองโดยมีฟ้าทะละหะ (มู) ว่าราชการแทน และเอาใจออกห่างฝักใฝ่ญวน
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
และเจ้าพระยาสุรสีห์ไปปราบปราม และมีพระราชโองการให้อภิเษกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์พระราชโอรสองค์
ใหญ่ขึ้นครองกัมพูชา ทัพไทยตีเมืองรายทางได้จนถึงเมืองบัณฑายเพชร พอดีกับกรุงธนบุรีเกิดจลาจลจึงเลิกทัพกลับ
อาณาเขตกรุงธนบุรีได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ดังนี้
- ทิศเหนือ ตลอดอาณาจักรลานนา
- ทิศใต้ ตลอดเมืองไทรบุรีและตรังกานู
- ทิศตะวันออก ตลอดกัมพูชาจดญวนใต้
- ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดนครเวียงจันทน์ หัวเมืองพวน และนครหลวงพระบาง
หัวพันทั้งห้าทั้งหก
- ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดเมืองพุทธไธมาศ
- ทิศตะวันตก ตลอดเมืองมะริด และตะนาวศรีออกมหาสมุทรอินเดีย
|
|
|
พระ
เจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นผู้สร้างวีรกรรมกอบกู้แผ่นดิน ศาสนา ฟื้นฟูขวัญและกำลังใจของปวงชนที่สิ้นหวังให้รวมพลังเป็นปึกแผ่น
สามารถปกป้องรักษาราชอาณาจักรไทยไว้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้ คณะรัฐมนตรีจึงให้ความเห็นชอบตามคำเรียกร้องของประชาชน
ให้ถวายพระราชสมัญญานามว่า “
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ” เมื่อวันที่
27 ตุลาคม พ.ศ. 2524
|
ข้อมูลจากเว็บไซต์กองทัพเรือ http://navy.mi.th
ภาพจากวัดเชิงท่า พระนครศรีอยุธยา
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น